springgreenのブログ

タイ料理のレシピ รวมสูตรอาหารไทย

รวมวิธีการเก็บอาหารสดในตู้เย็น ให้อาหารอยู่ได้นาน

เนื่องจากสถานการณ์ โรค โควิด-19 (COVID-19) กำลังระบาดอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศเรา และทั่วโลก ถึงแม้ว่าซูเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสดต่างๆ จะยังเปิดให้บริการอยู่ แต่หลายๆ คนคงเริ่มไม่อยากออกจากบ้านเพื่อไปซื้อของกันแล้วใช่มั้ยล่ะคะ และสำหรับใครที่ซื้อของสดเข้าบ้านมาตุนไว้ แต่ยังไม่รู้วิธีเก็บให้อยู่ได้นานๆ วันนี้เรามี เคล็ดลับ วิธีเก็บรักษาอาหารสด ของสด ให้อยู่ได้นานขึ้น ในช่วงที่บางคนอาจจะต้องกักตัว หรือต้อง Work From Home โดยเคล็ดลับดีๆ เหล่านี้มาจาก Instagram ของ เชฟป้อม หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล ถ้าอยากรู้แล้วว่ามีวิธีไหนบ้าง ตามเรามาดูกันเลยค่าา (25 อาหารที่ควรมีติดบ้าน! รับมือโรคระบาดโควิด COVID-19)


  1. เก็บใส่ถุงซีลสูญญากาศ หยิบใช้ง่าย การแบ่งเนื้อสัตว์ใส่ ถุงซีลสูญญากาศ เข้าแช่เย็นนั้นควรจัดให้อยู่ในรูปแผ่นแบน ๆ ไม่จุกรวมกันเป็นก้อน เพื่อให้ความเย็นเข้าไปถึงได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งยังสามารถจัดวางได้อย่างเป็นระเบียบและหยิบใช้ได้สะดวก ที่สำคัญยังทำให้ละลายน้ำแข็งได้ง่ายขึ้นเมื่อต้องการนำออกมาปรุงอาหาร
  2. แบ่งเนื้อสัตว์ออกเป็นช่องก่อนแช่แข็ง บางครั้งการเก็บเนื้อสัตว์บดโดยแยกถุงก็อาจทำให้เปลืองถุงพลาสติกและเพิ่มขยะมากขึ้น แต่อีกวิธีที่ทำได้เหมือนกันก็คือการเลือกถุงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกนิด โดยหลังจากนำเนื้อสัตว์ใส่ถุงและรีดเป็นแผ่นแบนแล้ว ให้ใช้ตะเกียบหรือปลายช้อนค่อย ๆ กรีดเป็นเส้นเพื่อแบ่งช่องให้เนื้อขาดออกจากกัน พอนำไปแช่แข็งเนื้อสัตว์จะเกาะตัวกัน ทำให้หยิบออกมาใช้เป็นชิ้นได้อย่างง่าย ๆ ไม่ต้องนำออกมาละลายทั้งหมดให้เปลืองเวลารวมทั้งอาจทำให้เนื้อส่วนอื่น ๆ เสียได้ง่ายขึ้นด้วย
  3. รักษาสภาพเนื้อด้วยอลูมิเนียมฟอยล์ ถ้าอยากให้เนื้อสัตว์ที่ซื้อมาอยู่ได้นาน ๆ ไม่ต้องห่วงว่าจะเสียก่อนนำออกมาปรุง การแช่แข็งนั้นถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่บางครั้งการเก็บอาหารสดในอุณหภูมิต่ำนานเกินไปก็อาจทำให้เกิด Freeze burn หรือรอยแห้งที่เกิดจากน้ำแข็ง ทำให้เนื้อเป็นรอยสีขาวหรือเหลืองซีด ๆ และแข็งจนไม่อร่อย ที่สำคัญยังทำให้สารอาหารในเนื้อสัตว์หายไปด้วย ทางที่ดีเมื่อรู้ว่าต้องเก็บเนื้อชิ้นนี้ไว้นานอย่างแน่นอน ก็ควรป้องกันด้วยการห่ออลูมิเนียมฟอยล์ก่อนนำไปเข้าช่องแช่แข็ง เพื่อไม่ให้เนื้อสัตว์เกิดความเสียหาย
  4. การแช่อาหารสดนอกช่องแช่แข็ง ถ้าหากเพิ่งซื้อเนื้อสัตว์เตรียมจะมาปรุงอาหารสำหรับวันหยุดที่ใกล้ถึงนี้ แต่ก็ไม่อยากนำไปแช่แข็งให้ละลายยาก ถ้าจะแช่ไว้ในช่องปกติก็กลัวจะเสียซะก่อน สามารถใช้วิธีการง่าย ๆ นี้ได้ค่ะ เพียงนำเนื้อสัตว์ใส่ถุงพลาสติกและวางลงในกล่องที่เติมน้ำพร้อมกับใส่น้ำแข็งไว้แล้ว ตามด้วยการใส่น้ำแข็งโปะลงไปด้านบนอีกทีก่อนจะปิดฝาให้สนิท ความเย็นในระดับนี้สามารถช่วยลดการโตของแบคทีเรียได้โดยไม่ต้องนำไปแช่แข็ง แต่ควรนำออกมาปรุงอาหารภายในเวลา 3 – 5 วัน เท่านั้นนะคะ
  5. แช่เต้าหู้ก้อนให้อยู่ได้นาน เต้าหู้ก้อนที่ซื้อมาไว้เตรียมทำอาหารเป็นอาหารอีกประเภทที่เสียได้ง่ายมาก วันแรก ๆ ก็ยังดูน่ารับประทานดีอยู่ แต่พอแช่ไว้ในตู้เย็นสักพักก็มักมีกลิ่นและเกิดคราบเหนียว ๆ ถ้าไม่อยากให้เกิดปัญหานี้ก็ต้องเก็บไว้อย่างเหมาะสมตั้งแต่แรก โดยการใส่ในกล่องที่เติมน้ำจนท่วมก้อนเต้าหู้และปิดฝาให้สนิท น้ำในกล่องจะช่วยกระจายความเย็นและรักษาก้อนเต้าหู้ให้สดได้นานยิ่งขึ้นง
  6. เทคนิคการแพ็คเนื้อสัตว์แบบสุญญากาศ อยากได้เนื้อสเต็กฉ่ำ ๆ รสละมุนนุ่มลิ้น ก็ต้องมาลงมือหมักด้วยซอสและเครื่องปรุงก่อนจะนำไปแช่ตู้เย็นกันค่ะ ยิ่งถ้าเก็บแบบสูญญากาศก็จะยิ่งช่วยให้เข้าเนื้อได้ดีและประหยัดพื้นที่มากขึ้น ซึ่งการไล่อากาศออกจากถุงพลาสติกนั้นก็ไม่ต้องไปพึ่งเครื่องที่ไหนไกล เพราะแค่ค่อย ๆ จุ่มถุงพลาสติกที่ใส่เนื้อสัตว์แล้วลงในน้ำและบีบไล่อากาศออกไปเรื่อย ๆ ก็เป็นวิธีการแพ็คเนื้อสัตว์แบบสูญญากาศที่ใช้ได้เหมือนกัน
  7. บอกลาตู้เย็นเลอะเทอะจากน้ำอาหารทะเล อาหารทะเลประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปลา กุ้ง หรือหอยนั้น อาศัยเพียงแค่การแบ่งไว้ในปริมาณที่เหมาะสมต่อการปรุงในแต่ละครั้งโดยใช้กล่องพลาสติกที่มีฝาปิดแทนถุงพลาสติก เพราะจะช่วยป้องกันทั้งน้ำจากอาหารทะเลที่อาจไหลออกมาเลอะเทอะ รวมทั้งยังจัดวางอย่างเป็นระเบียบได้ง่ายกว่านั่นเอง
  8. ละลายน้ำแข็งเร็วขึ้นด้วยอลูมิเนียม วิธีการละลายน้ำแข็ง ที่ส่วนใหญ่มักใช้กันก็คือ การนำออกจากช่องแช่แข็ง และนำมาวางในช่องด้านล่างให้อุณหภูมิค่อย ๆ ลดลง หรือนำออกมาแช่น้ำไว้ให้น้ำแข็งละลาย แต่อีกวิธีที่ทำให้น้ำแข็งละลายได้เร็วขึ้น ก็คือ การนำเนื้อสัตว์มาวางบนถาด หรือ ภาชนะอลูมิเนียมที่มีผิวเรียบ อลูมิเนียมจะเป็นตัวช่วยดูดซับความเย็นออกมาได้เป็นอย่างดี
  9. การละลายเนื้อกุ้งให้สดอร่อย วัตถุดิบในครัวอย่างเกลือนี่แหละค่ะที่จะช่วยให้เนื้อกุ้งอร่อยมากขึ้น โดยในระหว่างการละลายน้ำแข็งด้วยการนำกุ้งไปแช่ในน้ำนั้น ให้เติมเกลือลงไปด้วยในปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 2 ถ้วย เพื่อรักษาความชุ่มชื่นในเนื้อกุ้ง พร้อมกับเพิ่มรสชาติไปในตัว โดยในระหว่างนี้ก็อาจเตรียมวัตถุดิบอื่น ๆ สำหรับปรุงอาหารไปด้วย จึงต้องระวังอย่าเผลอแช่ไว้นานเกินจนทำให้เนื้อกุ้งสุดอร่อยเค็มเกินไปนะคะ

Cr. baanlaesuan.com


เพียงเท่านี้เพื่อน ๆ ก็สามารถเก็บวัตถุดิบให้อยู่กับเรานานขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีวัตถุดิบใช้ในช่วงกักตัวอยู่บ้านเลย แถมยังสามารถเพิ่มอรรถรสในการกินเพราะใช้วัตถุดิบที่ยังคงคุณภาพ นอกจากนี้อย่าลืมทำความสะอาดมือ ฆ่าเชื้อโรคก่อนปรุงอาหาร และกินร้อนช้อนกลางเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และคนที่คุณรักนะคะ  


บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
แนวทางเลือก “เครื่องซีลสุญญากาศ” สำหรับธุรกิจ
เลือก เครื่องซีลสูญญากาศ ยังไงให้เหมาะกับธุรกิจ
ผักสด เก็บยังไง ให้อยู่ทน อยู่นาน เป็นเดือนก็อยู่ได้